ดัชนีการรับรู้การทุจริต Ep.8 : ไทยแลนด์ กับคะแนนที่ใฝ่ฝัน (CPI 2566)
23 ก.พ. 2567
ไทยแลนด์ กับคะแนนที่ใฝ่ฝัน
ผลการจัดอันดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต พ.ศ. 2566 (Corruption Perceptions Index 2023 : CPI2023)โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI)
ประเทศไทย ได้คะแนน 35 คะแนน (ลดลง 1 คะแนน) จัดอันดับจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล
ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่งข้อมูล คือ The Political and Economic Risk Consultancy : Asia Risk Guide (PERC) เพิ่มขึ้นจาก 35 คะแนนในปี 2565 เป็น 37 คะแนน (+2)
- เนื่องจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถามของแหล่งข้อมูลนี้ มองว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และปัญหาในกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดนโยบาย รวมทั้งมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การปรับปรุง ระเบียบ กฎหมาย การปรับปรุงกระบวนงานในการอนุมัติ อนุญาต การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริต โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนและภาคีต่าง ๆ ร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริต ทำให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
คะแนนคงที่ จำนวน 5 แหล่งข้อมูล
- แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน
- แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน
- แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 43 คะแนน
- แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน
- แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ได้ 26 คะแนน
- เนื่องจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญและผู้ตอบแบบสอบถามในแหล่งข้อมูลดังกล่าว อาจเห็นว่า
ถึงแม้ในปีที่ผ่านมาประเทศไทย จะได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตต่าง ๆ เช่น มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับระบบงบประมาณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงกระบวนงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ตลอดจนมีการลงโทษผู้ที่กระทำการทุจริต แต่ปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ของประเทศไทย ยังคงมีอยู่ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งผู้ประเมินเห็นว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
คะแนนลดลง จำนวน 3 แหล่งข้อมูล
- แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 33 คะแนน (-4)
- แหล่งข้อมูล World Economic Forum : Executive Opinion Survey (WEF) ได้ 36 คะแนน (-9)
- แหล่งข้อมูล World Justice Project : Rule of Law Index (WJP)ได้ 33 คะแนน (-1)
- ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถาม และผู้เชี่ยวชาญในแหล่งข้อมูลดังกล่าว ที่รับรู้ว่ายังคงมีปัญหาการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแลกกับการได้รับการอนุมัติ/อนุญาต การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน ประกอบกับยังคงปรากฏกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่เป็นระยะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การพัฒนาการดำเนินงานโดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบและการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ ยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่จริงจังของรัฐบาลที่ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน
ภาพสะท้อนจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) สถานการณ์คอร์รัปชันทั่วโลกว่ายังอยู่ในระดับที่ “น่ากังวล”
ขณะที่ค่าคะแนน CPI ของประเทศไทย ยังวนเวียนอยู่ที่ 35-36 คะแนน มากว่า 6 ปี และยังก้าวไม่พ้น “หลักสี่” อันดับโลกยังคงสูงกว่า "100"
ซึ่งยังห่างไกลกับความเป็นจริงที่เราต้องได้อันดับ 1 ใน 20 ของโลก หรือได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต 73 คะแนน ภายในปี พ.ศ. 2580
น่าลุ้นกันว่าทางประเทศไทยจะมีแนวทางการต้านโกงอย่างไร ให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้น "คะแนนหลักสี่" หรือทำให้คะแนนไม่ลดลงอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ไม่ใช่เพียงแค่จัดงาน ถ่ายรูปไขว้มือ และประกาศว่าจะไม่โกง ซึ่งเป็นการต้านโกงแบบฉาบฉวย
#cpi#corruptionperceptionindex#cpi2023
#acm#ACM#VirtualMuseum#AntiCorruptionMuseum
#ต้านโกง#พิพิธภัณฑ์ต้านโกง#ต้านโกงเสมือนจริง