การต้านโกงสมัยสุโขทัย

ในสมัยสุโขทัย มีหลักฐานสำคัญ กล่าวถึงการต้านโกงไว้บนศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหงมหาราช หลักที่ 1 ด้านที่ 1 และด้านที่ 2 กล่าวคือ

หากราษฎรและข้าราชการเกิดพิพาทกัน ให้ไต่สวนดูให้แน่นอน แล้วตัดสินโดยไม่ลำเอียงเข้ากับคนผิด และไม่ให้มีใจฟุ้งซ่าน อยากได้สินบน


และข้อความอีกตอนหนึ่งว่า


"ปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่ง แขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้า หน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อย มีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร่ ไปลั่นกระดิ่ง อันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคําแหง เจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ"


เป็นการให้สิทธิแก่ราษฎรในการร้องเรียนหรือร้องทุกข์ ขอความเป็นธรรมต่อพ่อขุนรามคําแหงในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้ง กรณีที่ราษฎรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากพวกขุนนางข้าราชการด้วย


การต้านโกงสมัยอยุธยา

ในสมัยอยุธยา ถือว่าการรับราชการเป็นการเกณฑ์คนเข้ารับใช้แผ่นดิน ไม่มีเงินเดือนตอบแทน ข้าราชการแต่ละคนจึงต้องทำมาหากินเอง


การที่ข้าราชการไปทำงานส่วนตัว ขณะรับราชการไม่ถือเป็นการประพฤติมิชอบ

 

สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีศักดิ์เป็นเจ้าขุนมูลนาย สามารถทำมาหากิน โดยใช้แรงงานของไพร่ ซึ่งมีระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ เรียกว่า "การเข้าเดือน" ในแต่ละสมัยมีระยะเวลาไม่เท่ากัน เช่น ในสมัยอยุธยา ไพร่ต้องมาเข้าเวร 6 เดือน โดยอาจใช้แรงงาน 6 เดือน และกลับไปทำมาหากิน 6 เดือน

 

นอกจากนั้น อาจมีรายได้จากประชาชนผู้มาติดต่อราชการ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ไม่ต้องส่งเข้าหลวง หรือบางกรณีมีค่าธรรมเนียมเข้าหลวง แต่หักส่วนหนึ่งเป็นของข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ยังอาจได้ค่าส่วนลดจากการจัดเก็บส่วยอากรอีกด้วย

 

การได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ถือเป็นการกระทำที่ได้รับอนุญาต ไม่ถือเป็นความผิด และได้ปฏิบัติสืบต่อมาเป็นประเพณี

จนเรียกการแต่งตั้งข้าราชการ ให้ดำรงตำแหน่งว่า ให้ไป "กินตำแหน่ง" หรือ "กินเมือง"

 

ถึงแม้จะยินยอมให้ข้าราชการหาผลประโยชน์ได้ แต่ก็จะสามารถกระทำได้ภายใน ขอบเขตเท่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากกระทำการเกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต ก็จะถือเป็นการ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" มีความผิดร้ายแรงเสมอด้วยความผิดฐาน คิดคดทรยศต่อแผ่นดิน จะถูกลงโทษอย่างหนักถึงประหารชีวิต หรืออย่างน้อยก็เฆี่ยน และถอดบรรดาศักดิ์ และอาจถูกแห่ประจานก่อนการประหารชีวิตเพื่อมิให้ผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่าง จะเห็นได้ว่า วิธีการป้องกันและปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในสมัยก่อนนั้นใช้วิธี "ปราบปราม" โดยลงโทษข้าราชการ ที่กระทำความผิดอย่างรุนแรง และเฉียบขาดเสมอด้วยการกบฏ เพื่อให้ข้าราชการเกิด ความเกรงกลัว มิกล้ากระทำความผิดนอกจากนั้นยังเป็นลักษณะ "การปราบปราม" หรือ "การป้องกัน" มิให้ผู้อื่น เอาเป็นเยี่ยงอย่าง

การต้านโกงสมัยอยุธยา

ยุคพิธีถือน้ำ และลิลิตโองการแช่งน้ำ

สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นอกจากการบัญญัติกฎหมาย ยังมีพิธีกรรมสำคัญ ได้แก่ พิธีศรีสัจจปานกาล หรือ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ถือน้ำ เพื่อแสดง ความซื่อสัตย์สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ พิธีนี้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ โดยในพิธีจะมีการอ่าน โองการ ซึ่งแต่งด้วยโคลงสลับกับร่ายเป็นช่วง ๆ เนื้อหาในโองการแบ่งได้ 5 ส่วนสำคัญ คือ

1. สดุดีเทพเจ้าฮินดู 3 องค์ ได้แก่ พระนารายณ์ พระศิวะ และพระพรหม เป็นร่ายสามบทสั้นๆ

2. กล่าวถึงกำเนิดโลก และสังคมมนุษย์ อัญเชิญเทพยดา พระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผีต่างๆ มาเป็นพยาน

3. คำสาปแช่งผู้ทรยศ คิดไม่ซื่อต่อเจ้าแผ่นดิน ให้ประสบภยันตรายนานา เป็นเนื้อหา ที่ยาวที่สุดในบรรดา 5 ส่วน

4. คำอวยพรแก่ผู้จงรักภักดีแก่ผู้ที่มีความจงรักภักดี

5. ถวายพระพรเจ้าแผ่นดิน เป็นร่ายสั้นๆ เพียง 6 วรรค

การต้านโกงสมัยอยุธยา

ยุคพระไอยการอาชาหลวง พ.ศ. 1895 (กฎหมายอาญา)

พระไอยการอาชาหลวง ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1895 มีบทบัญญัติให้ราษฎรสามัญร้องเรียน หรือฎีกาฟ้องร้องขุนนาง ข้าราชการได้ ตามความผิดในลักษณะต่าง ๆ ในกรณีที่มิได้รับความเป็นธรรม โดยแต่งตั้งให้ข้าราชการในเมืองหลวงเดินทางไปรับคําร้องทุกข์ และมีบทบัญญัติถึงลักษณะการกระทำผิดของข้าราชการหลายลักษณะ เช่น

> การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่เพราะเห็นแก่สินบน

> ความผิดฐานข่มเหงราษฎร

> ความผิดฐานเบียดบังพระราชทรัพย์ต่อพระมหากษัตริย์

> ความผิดฐานเบียดบังส่วยอากร

การต้านโกงสมัยอยุธยา

ยุคพระไอยการลักษณโจร พ.ศ. 1903

กฎหมายพระอัยการลักษณโจรตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1903 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดของ ข้าราชการหลายประการ รวมถึงการช่วยเหลือโจรโดยการให้ที่อยู่อาศัย การแกล้งอำพราง ป้องกันไม่นำตัวส่งหลวงให้พิจารณาโทษ โดยให้ข้าราชการผู้นั้น มีโทษหนักและปรับเสมือนเป็นโจร

การต้านโกงสมัยอยุธยา

ยุคพระราชกำหนดเก่า พ.ศ. 2295

ในพระราชกำหนดเก่ามีบัญญัติเกี่ยวกับความผิดของข้าราชการในกรณีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เช่น บทที่ 12 มีใจความว่า

“...ถ้าผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการ นายบ้าน นายอำเพ่อราษฎรไพร่พลเมืองผู้ใดมิได้กระทำตาม พระราชกำหนดกฎหมายให้ไว้แต่ข้อใดข้อหนึ่งไซ้ จะเอาตัวผู้นั้นเปนโทษาณุโทษนั้นแล

ฝ่ายข้าง ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการนั้น ถ้ามิกระทำตามพระราชกำหนฎกฎหมาย มิได้เปนใจ ตรวจตราสอดแนมจับเอาตัวอ้ายผู้ร้ายแลเหนแก่อามิศสีนบนจะได้เปนลาภเปนผลเปนประโยชน์แก่ตัวนั้นเปนใหญ่แลจะดูบังเหตุแก่ราชการละเสียให้อ้ายผู้ร้ายกำเริบกระทำร้ายแก่ สมณะชีพราหมแลไพร่พลเมืองลูกค้าพานิชทางบกทางเรืออีกเล่าไซ้ จะให้เอาตัวเปนโทษจงหนัก...”



การต้านโกงในรัชสมัย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ราชอาณาจักรสยาม เริ่มมีการบัญญัติและตรากฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกรมตรวจ ร.ศ. 109 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีจํานวน 16 มาตรา รวมถึงการตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ในภาค 2 ส่วนที่ 2 หมวดที่ 2 ว่าด้วยความผิดฐานใช้อํานาจและตําแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต มาตรา 129 ถึง มาตรา 146 ซึ่งมีการกําหนดโทษ ในมูลฐานความผิดทุจริตไว้อย่างเป็นหมวดหมู่


การต้านโกง ยุคกรมตรวจราชการแผ่นดิน (พ.ศ. 2488 - พ.ศ. 2516)

พ.ศ. 2488

ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาข้าราชการและพนักงานเทศบาล ผู้ประพฤติผิดวินัยหรือหย่อนความสามารถ พ.ศ. 2488 ถือเป็นการบัญญัติกฎหมายฉบับแรกที่ได้วางโครงสร้างและ กลไกการตรวจสอบการทุจริตในระบบพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ต่อมากฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2489

พ.ศ. 2490

ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาวิธีพิจารณาลงโทษข้าราชการและพนักงานเทศบาลผู้กระทำผิด หน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ พ.ศ. 2490 ต่อมาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2491 เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากรัฐบาลมีความเชื่อว่า เมื่อการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตด้วยมาตรการพิเศษดำเนินการไปได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว การทุจริตจะลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ จนกระทั่งไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษ

พ.ศ. 2492

ประกาศใช้พระราชบัญญัติร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งประกอบไปด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอีกไม่น้อยกว่า 6 คน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องราว ร้องทุกข์ จากประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากข้าราชการหรือพนักงานเทศบาล ที่กระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เกินสมควร หรือใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ซึ่งในการพิจารณานั้น คณะกรรมการมีอำนาจ เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแสดงพยานหลักฐานได้

พ.ศ. 2494

จัดตั้งคณะกรรมการปฏิบัติราชการตามมติประชาชน (ก.ป.ช.)

พ.ศ. 2496

จัดตั้งกรมตรวจราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2496 สังกัดคณะรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง โดยมีอำนาจหน้าที่สืบสวน สอบสวน และติดตามพฤติการณ์ของข้าราชการ ให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายระเบียบแบบแผนนโยบายของรัฐบาลมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนคำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยความรวดเร็ว กรมตรวจราชการแผ่นดินถูกยกเลิกเมื่อ พ.ศ. 2503 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

พ.ศ. 2503

แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากร (ก.ต.ภ.) ตาม พ.ร.บ. ตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ ประกอบไปด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอีกไม่เกิน 9 คน มีเลขาธิการสำนักงานเป็นกรรมการ โดยตำแหน่งมีหน้าที่ตรวจสอบ การจัดเก็บภาษีอากรและรับเรื่องราวร้องเรียนกล่าวหา เจ้าพนักงานที่จัดเก็บภาษีอากรโดยมิชอบ


การต้านโกง ยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

พ.ศ. 2515

ภายหลังการปฏิวัติโดยจอมพล ถนอม กิตติขจร คณะปฏิวัติต้องการปรับปรุงระเบียบ บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดความคล่องตัวและลดหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน จึงได้รวมภารกิจ ของผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ และคณะกรรมการตรวจสอบ การปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากร (ก.ต.ภ.) เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการตรวจ และติดตามผลการปฏิบัติราชการ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 และ 217 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 โดยมีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงาน จากนั้นจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ตามประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 324 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 โดยเจ้าพนักงาน ก.ต.ป. มีอำนาจจับกุมบุคคล ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่า ได้กระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยภาษีอากร หากบุคคลใดขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงาน หรือไม่มาให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งบัญชีเอกสารหรือวัตถุใด ที่เรียกต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คณะกรรมการ ก.ต.ป. ยกเลิกไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

พ.ศ. 2516

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญ ของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงได้มีคำสั่งลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 แต่งตั้งคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและป ระพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ป. ชุดนี้ยังไม่ทันได้เริ่มประชุมทำงาน นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2517

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 จึงมีคำสั่ง ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 แต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ป. ขึ้นใหม่ คณะกรรมการดังกล่าวปฏิบัติ หน้าที่จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ก็ถูกยุบเลิกไปโดยมีผลงานในระหว่างระยะเวลา ดังกล่าว พอสรุปได้ คือ เรื่องเข้าสู่การพิจารณารวม 434 เรื่องพิจารณาดำเนินการแล้วเสร็จ 143 เรื่อง ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการ คณะทำงานและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ 194 เรื่อง ตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตและมอบให้ต้นสังกัดดำเนินการต่อ 30 เรื่อง และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริง และสอบสวนทางวินัย 20 เรื่อง

พ.ศ. 2518

สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พุทธศักราช 2518 เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2518 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2518 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2518

พ.ศ. 2520

ย้ายที่ทำการคณะกรรมการ ป.ป.ป.จากทำเนียบรัฐบาลมายังถนนพิษณุโลก การทำงาน ในยุคบุกเบิกอาคารที่ถนนพิษณุโลกเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ป. ในเวลานั้น แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความรู้ความชำนาญ ในวิชาการ หรือกิจการต่างๆ โดยความเห็นชอบของวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ต้องไม่เป็น ข้าราชการการเมืองสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้จัดการ กรรมการที่ปรึกษา ตัวแทน หรือลูกจ้างของบุคคล ห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การใดๆ ซึ่งดำเนินธุรกิจ เพื่อค้ากำไร ประธานกรรมการและกรรมการมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และอาจได้รับ การแต่งตั้งใหม่ได้อีกวาระหนึ่ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระมิได้

ภารกิจในยุค ป.ป.ป.

• เสนอมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

ของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อคณะรัฐมนตรี

• เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน

ตามรายการ วิธีการ และเวลาตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

• สืบสวนสอบสวนเพื่อทราบข้อเท็จจริงเมื่อมีผู้กล่าวหาร้องเรียน หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

• เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงาน โครงการของส่วนราชการต่างๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและ ประพฤติมิชอบในวงราชการ

• รายงานผลปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่พร้อมทั้งข้อสังเกตต่อนายกรัฐมนตรี

ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ภายในเดือนตุลาคมทุกปี (สิ้นปีงบประมาณ) แล้วพิมพ์เผยแพร่รายงานประจำปีนั้น

• สืบสวนสอบสวน เพื่อทราบข้อเท็จจริงเมื่อมีพฤติการณ์ปรากฏแก่คณะกรรมการหรือมีการกล่าวหาร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ 


การต้านโกง ยุคพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2534

เกิดเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช.) ภายใต้การนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ประเด็นเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงกลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง เพราะการรัฐประหารในครั้งนั้น คณะ ร.ส.ช. ได้ให้เหตุผลไว้ข้อหนึ่งว่า นักการเมืองมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นจำนวนมาก คณะ ร.ส.ช. จึงออกประกาศคณะรักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 เรื่องให้อายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ทรัพย์สิน (ค.ต.ส.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณารายชื่อนักการเมืองที่มีพฤติการณ์อันส่อแสดง ให้เห็นว่ามีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริต


หลังจากนั้นไม่นานสังคมไทยก็เข้าสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535


การต้านโกง ยุครัฐธรรมนูญ 2540 และองค์กรอิสระ

พ.ศ. 2540

ข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ป. นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โครงสร้างและกลไกการตรวจสอบโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีความเป็นกลางและอิสระขึ้นทำหน้าที่แทน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.)

พ.ศ. 2542

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม 116 ตอนที่ 114 ก วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 เป็นผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ป. ถูกยุบไป และจัดตั้งเป็น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช.

ภารกิจในยุค ป.ป.ช.


ด้านป้องกันการทุจริต

• เสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล หรืvคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการและอื่น ๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต

• เสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต

• ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต


ด้านปราบปรามการทุจริต

• ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนเสนอวุฒิสภาเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดออกจากตำแหน่ง

• ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนเพื่อดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

• ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่ง

ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไปร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิด ฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

• สอบสวนข้อเท็จจริงความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ


ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน

• กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

• ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สิน

และหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบัญชี แสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบที่ยื่นไว้

• ไต่สวนและวินิจฉัยกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ เพื่อการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

• ข้อมูลตำแหน่งที่ระเบียบกำหนดว่าต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินต่อ ป.ป.ช.

พ.ศ. 2551

ประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เป็นองค์การฝ่ายบริหารเพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานที่ช่วย ป.ป.ช. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอีกหน่วยงานหนึ่ง


พ.ศ. 2558

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันการทุจริต จึงได้มีโครงการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้เพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริต เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่คนทุกกลุ่มทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และตั้งชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์ต้านโกง" (Anti-Corruption Museum) เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ต้านทุจริตแห่งแรกของประเทศไทย และเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 โดยได้รับเกียรติจากพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ต้านโกง