ดัชนีการรับรู้การทุจริต Ep.8 : ไทยแลนด์ กับคะแนนที่ใฝ่ฝัน (CPI 2566)


ปกcpi8

ไทยแลนด์ กับคะแนนที่ใฝ่ฝัน


ผลการจัดอันดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต พ.ศ. 2566 (Corruption Perceptions Index 2023 : CPI2023)โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI)

ประเทศไทย ได้คะแนน 35 คะแนน (ลดลง 1 คะแนน) จัดอันดับจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล


cpi8.png


ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่งข้อมูล คือ The Political and Economic Risk Consultancy : Asia Risk Guide (PERC) เพิ่มขึ้นจาก 35 คะแนนในปี 2565 เป็น 37 คะแนน (+2)

  • เนื่องจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถามของแหล่งข้อมูลนี้ มองว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และปัญหาในกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดนโยบาย รวมทั้งมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การปรับปรุง ระเบียบ กฎหมาย การปรับปรุงกระบวนงานในการอนุมัติ อนุญาต การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริต โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนและภาคีต่าง ๆ ร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริต ทำให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม


คะแนนคงที่ จำนวน 5 แหล่งข้อมูล

  1. แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน
  2. แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน
  3. แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 43 คะแนน
  4. แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน
  5. แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ได้ 26 คะแนน


  • เนื่องจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญและผู้ตอบแบบสอบถามในแหล่งข้อมูลดังกล่าว อาจเห็นว่า
    ถึงแม้ในปีที่ผ่านมาประเทศไทย จะได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตต่าง ๆ เช่น มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับระบบงบประมาณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงกระบวนงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ตลอดจนมีการลงโทษผู้ที่กระทำการทุจริต แต่ปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ของประเทศไทย ยังคงมีอยู่ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งผู้ประเมินเห็นว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

 

คะแนนลดลง จำนวน 3 แหล่งข้อมูล

  1. แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 33 คะแนน (-4)
  2. แหล่งข้อมูล World Economic Forum : Executive Opinion Survey (WEF) ได้ 36 คะแนน (-9)
  3. แหล่งข้อมูล World Justice Project : Rule of Law Index (WJP)ได้ 33 คะแนน (-1)



  • ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถาม และผู้เชี่ยวชาญในแหล่งข้อมูลดังกล่าว ที่รับรู้ว่ายังคงมีปัญหาการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแลกกับการได้รับการอนุมัติ/อนุญาต การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน ประกอบกับยังคงปรากฏกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่เป็นระยะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การพัฒนาการดำเนินงานโดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบและการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ ยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่จริงจังของรัฐบาลที่ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน


ภาพสะท้อนจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) สถานการณ์คอร์รัปชันทั่วโลกว่ายังอยู่ในระดับที่ “น่ากังวล”

avg.pngCPI2023_Map plus Index_EN.jpg


ขณะที่ค่าคะแนน CPI ของประเทศไทย ยังวนเวียนอยู่ที่ 35-36 คะแนน มากว่า 6 ปี และยังก้าวไม่พ้น “หลักสี่” อันดับโลกยังคงสูงกว่า "100"

ซึ่งยังห่างไกลกับความเป็นจริงที่เราต้องได้อันดับ 1 ใน 20 ของโลก หรือได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต 73 คะแนน ภายในปี พ.ศ. 2580


น่าลุ้นกันว่าทางประเทศไทยจะมีแนวทางการต้านโกงอย่างไร ให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้น "คะแนนหลักสี่" หรือทำให้คะแนนไม่ลดลงอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ไม่ใช่เพียงแค่จัดงาน ถ่ายรูปไขว้มือ และประกาศว่าจะไม่โกง ซึ่งเป็นการต้านโกงแบบฉาบฉวย


#cpi#corruptionperceptionindex#cpi2023

#acm#ACM#VirtualMuseum#AntiCorruptionMuseum

#ต้านโกง#พิพิธภัณฑ์ต้านโกง#ต้านโกงเสมือนจริง


ออกแบบภาพ และเรียบเรียงเนื้อหาโดย
กนต์ธร บัวงาม เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ พิพิธภัณฑ์ต้านโกง


ที่มาข้อมูล
https://www.transparency.org/en/cpi/2023
https://www.pacc.go.th/2023result.html
https://www.nacc.go.th/categorydetail/2018083118464105/20240130143633?

ติดตามข่าวสาร