คดีตัวอย่าง : ฮั้วประมูลจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร
24 มิ.ย. 2567
จากที่กล่าวไปในตอนฮั้วประมูล : กลโกงที่ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินมากเกินความเป็นจริง และตอนรู้หรือไม่ !! ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันฮั้วประมูล สรุปได้ว่าการฮั้วประมูล คือ การทำยังไงก็ได้ให้คู่แข่งยอมหลีกทางในการประมูลแข่งขัน การยื่นซองเสนอราคา รวมถึงขัดขวางการเสนอประโยชน์สูงสุด ให้แก่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งการฮั้วประมูล เกิดขึ้นกับการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น"
สำหรับรูปแบบของการฮั้วประมูล แบ่งได้ดังนี้
1 การสมยอมราคา/การจัดฮั้วกัน ของผู้ประกอบการ
2 กีดกันการเสนอราคาด้วยวิธีการต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ
3 เอื้อประโยชน์แก่เอกชนในการเสนอราคากับหน่วยงานรัฐ
ในตอนนี้จะมากล่าวถึงคดีตัวอย่างเกี่ยวกับการฮั้วประมูล หรือความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นกับการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ในวงเงิน 133,749,780 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2547
จุดเริ่มต้นของโครงการ
พ.ศ. 2546 กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขึ้น รวมทั้งสถานีดับเพลิงจํานวน 78 สถานี เพื่อรองรับภารกิจการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่จะถ่ายโอน มาจากสํานักงานตํารวจแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาล และได้รับโอนภารกิจการป้องกันและระงับอัคคีภัย สํานักงานตำรวจแห่งชาติ
คดีนี้เริ่มจากข้อเสนอของเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจําประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2546 ที่มีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอโครงการขายรถดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย โดยให้ดําเนินการในลักษณะรัฐต่อรัฐ ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐออสเตรีย กับข้อเสนอให้ความช่วยเหลือจัดหาแหล่งเงินทุนให้ โดยยอมรับพันธะการค้าต่างตอบแทนในสัดส่วนร้อยละ 100 (ซื้อสินค้าไทยไปในมูลค่าเท่าๆ กัน)
22 มิถุนายน 2547 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพ การทํางานสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีหลักการสําคัญว่า วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ยานพาหนะต่าง ๆ ให้นําเข้าเฉพาะส่วนที่จําเป็นและที่ไม่มี หรือที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศเท่านั้น และให้กระทรวงพาณิชย์รับไปดําเนินการเกี่ยวกับการทําการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) กับรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย โดยเน้นสินค้าหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)
14 กรกฎาคม 2547 คณะรัฐมนตรีทราบรายงานผลการดําเนินการตามที่กรุงเทพมหานครเสนอ โดยมีรายการสินค้าที่ต้องจัดหา 15 รายการ เป็นยานพาหนะดับเพลิงจํานวน 315 คัน เรือดับเพลิงจํานวน 30 ลํา ในวงเงิน 133,749,780 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาท
30 กรกฎาคม 2547 มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (AOU – Agreement of Understanding) ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจําประเทศไทย โดย A.O.U. ได้มีการระบุ ตัวคู่สัญญาที่จะทําข้อตกลงซื้อขายกันไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว คือรัฐบาลไทยโดยกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย ต้องซื้อสินค้าจากบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนต่างประเทศที่รัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรียกําหนด
27 สิงหาคม 2547 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร (นายสมัคร สุนทรเวช) ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ บรรเทาสาธารณภัย (PURCHASE AGREEMENT) กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด
ข้อพิรุธการจัดซื้อรถดับเพลิง
เมื่อดูที่มาของโครงการ ก็ดูสมเหตุสมผลและสอดรับกันดี ไม่น่าจะมีอะไรผิดปกติ เป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ แต่มีคนพบความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างในหลายเรื่อง
1. การทำข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ บรรเทาสาธารณภัย (PURCHASE AGREEMENT) ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค จํากัด ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ที่กําหนดให้ทําสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของร่างสัญญาจากสํานักงานอัยการสูงสุด เพื่อประสงค์ให้กรุงเทพมหานคร ตกลงซื้อสินค้าจากบริษัท สไตเออร์ฯ โดยไม่มีการตรวจสอบชนิดและราคาสินค้า
การจัดซื้อในคดีนี้ ที่มีความพยายามกล่าวอ้างว่าเป็นการดําเนินการในลักษณะรัฐต่อรัฐ และความช่วยเหลือของรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย ทั้งที่ไม่มีความช่วยเหลือจริง จนนําไปสู่การทําข้อตกลง A.O.U. และกําหนดวิธีการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ
- เพื่อเป็นเพียงข้ออ้างที่จะได้จัดซื้อรถและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์การดับเพลิง จากบริษัท สไตเออร์ฯ โดยไม่ต้องเปิดการประกวดราคาเป็นการทั่วไปตามระเบียบการจัดซื้อโดยปกติเท่านั้น
- เพื่อเสนอราคารถดับเพลิงแพงผิดปกติ โดยไม่ต้องตรวจสอบ
- เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สไตเออร์ฯ สามารถเข้าเป็นคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร โดยไม่ต้องแข่งขันราคา เป็นหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการประกวดราคาอย่างเป็นธรรม
- ทำให้บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ได้รับสัดส่วนผลประโยชน์ ต่อต้นทุนสูงถึง ร้อยละ 48.77 ซึ่งสูงเกินกว่า มาตรฐานทางการค้า ที่เหมาะสม
- เพื่อใช้การจัดซื้อ โดยวิธีพิเศษ ไม่อาจใช้การประกวดราคาให้ผู้ขายรายอื่นเข้าเสนอราคาได้ ทําให้การจัดซื้อในครั้งนี้ ไม่มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม
2. การค้าต่างตอบแทนกับรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย ด้วยเงื่อนไขรับพันธะการค้าต่างตอบแทนในสัดส่วนร้อยละ 100 โดยเน้นสินค้าหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้จัดให้มีการลงนามในสัญญาการค้าต่างตอบแทนแต่อย่างใด แต่กลับนำยอดการส่งออก ไก่แปรรูป (ต้มสุก) แช่แข็ง ไปประเทศญี่ปุ่น มาตัดบัญชีต่างตอบแทน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่อย่างใดเพราะไม่ทำให้ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น และทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับประเทศออสเตรียกว่า 6,000 ล้านบาท
ใครบ้างที่ทำผิด
1. พลตำรวจตรีอธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร
เป็นผู้เริ่มติดต่อกับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ตั้งแต่รับราชการที่กองบังคับการตำรวจดับเพลิงเมื่อปลายปี พ.ศ.2545 และเกี่ยวข้องกับโครงการนี้เมื่อมีแผนการถ่ายโอนกองบังคับการ ตำรวจดับเพลิงไปสังกัดกรุงเทพมหานครและยังเป็นผู้พาตัวแทนบริษัท บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ไปพบนายประชามาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลงานของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ช่วยผลักดันการขายรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ตลอดจน อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด
เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติถ่ายโอนงานดับเพลิงไปให้กรุงเทพมหานครแล้ว พล.ต.ต. อธิลักษณ์ ก็ขอย้ายตามไปเพื่อผลักดันจนการจัดซื้อนี้เกิดขึ้น ทั้งนี้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ได้จัดทำบันทึกโครงการพัฒนาระบบริหาร และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอไปยังนายประชา มาลีนนท์ ตามที่เคยติดต่อไว้
และในฐานะประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษไม่เคยทําการสืบราคาสินค้าประเภทเดียวกันจากผู้ผลิตหรือจําหน่ายรายใด เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมของราคาตามอํานาจหน้าที่แต่ประการใด มีเพียงหนังสือแจ้งขอต่อรองราคาไปยังบริษัท สไตเออร์ฯ โดยไม่มีการพิจารณารายละเอียดของสินค้าและราคาที่จะต่อรองให้เห็นเป็นจริงจัง และในฐานะประธานกรรมการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ย่อมมีหน้าที่ต้องบริหารโครงการ และดําเนินการจัดซื้อให้เกิดประโยชน์แก่ราชการและประเทศชาติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสืบราคา และต่อรองราคาให้ถึงที่สุดเพื่อประโยชน์แก่ราชการ ไม่ใช่มุ่งแต่จะซื้อสินค้าจากบริษัท สไตเออร์ฯ ให้ได้อย่างเดียว โดยไม่ได้คํานึงถึงความเสียหายที่ประเทศชาติจะได้รับ
2. นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล กรุงเทพมหานคร
หลังจาก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ พาผู้แทนบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัดเข้าพบนายประชา มาลีนนท์แล้ว นายประชา มาลีนนท์ก็ได้ดำเนินการผลักดันให้มีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง รวมทั้งอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยจากบริษัท สไตเออร์เดมเลอร์พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด และยังเดินทางไปดูงานการผลิตรถดับเพลิงตามคำเชิญของ บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ที่สาธารณรัฐออสเตรีย และราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ต่อมายังได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขบันทึกของ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา อีกทั้งพยายาม เร่งรัดให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เปิด L/C ให้กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ทั้งที่นายอภิรักษ์เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อจากนายสมัคร สุนทรเวช
จะเห็นได้ว่านายประชา มาลีนนท์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อนี้ตั้งแต่แรก ในลักษณะเข้าไปสั่งการผลักดันโครงการเพื่อให้มีการจัดซื้อสินค้าจนนําไปสู่การจัดซื้อสินค้ารถและเรือดับเพลิงในราคาที่ไม่เหมาะสม เกิดความเสียหายแก่รัฐและกรุงเทพมหานคร อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด
ผลคำพิพากษา
1. นายประชา มาลีนนท์ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 ลงโทษจําคุก 12 ปี สถานะหลบหนีคำพิพากษา
2. พลตำรวจตรีอธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ลงโทษจําคุก 10 ปี สถานะหลบหนีคำพิพากษา
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
มาตรา 12 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 13 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกรรมการหรืออนุกรรมการในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ ต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณา หรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาเพื่อจูงใจหรือทำให้จำยอมต้องยอมรับการเสนอราคาที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
บทสรุปจากคดีตัวอย่างฮั้วประมูล
โครงการจัดซื้อที่มีลักษณะขาดความเป็นธรรมในการแข่งขันประกวดราคาหรือที่เรียกว่า "ฮั้วประมูล" ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นนอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากผู้เสนอราคาได้ และในกรณีนี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนร่วมหรือมีส่วนสนับสนุนในการทำความผิดด้วยการละเว้นไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อันส่งผลให้ความเสียหายซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์หรือเหตุผลในการประกาศเพื่อกำกับดูแลให้การจัดหาสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อหรือการจัดจ้าง หรือวิธีอื่นใดของหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กระทำอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรรมและมีการแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ
การกระทำเพื่อฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นความผิดทางอาญา มีโทษในการกระทำผิด การทุจริตในลักษณะนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมืออย่างแยบยลของผู้มีอำนาจหลายระดับและหลายฝ่าย ยากต่อการสอบสวนและเอาผิด สำนึกอันถูกต้องของผู้อยู่ในอำนาจให้คุณและให้โทษในการจัดซื้อและจัดจ้างของหน่วยงานราชการจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมไปถึงภาคเอกชนที่ต้องไม่ลืมว่าความเสียหายจากการทุจริตจัดซื้อและจัดจ้าง แม้จะเอื้อประโยชน์ต่อตนและกิจการหากในความจริง ส่งผลเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติที่ตนเองคือส่วนหนึ่งด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
#acm #ACM #VirtualMuseum #AntiCorruptionMuseum #ต้านโกง #พิพิธภัณฑ์ต้านโกง #ต้านโกงเสมือนจริง #กลโกง #ฮั้ว #ฮั้วประมูล #กลโกงฮั้วประมูล #กฎหมายฮั้วประมูล #กฎหมายฮั้ว #กฎหมายป้องกันฮั้ว #กฎหมายป้องกันฮั้วประมูล #ฮั้วประมูลรถดับเพลิง #รถดับเพลิง