กลโกงปกปิดบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน หรือแจ้งเท็จ
08 ก.ค. 2567
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
เป็นมาตรการหนึ่งในการตรวจสอบป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หัวหน้าส่วนราชการ รองหัวหน้าส่วนราชการ กรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่น และตำแหน่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง หรือทุกสามปีที่อยู่ในตำแหน่ง
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มีเหตุผลหลัก 2 ประการ ดังนี้
1. ป้องกันการทุจริต
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ยื่นบัญชี โดยเปรียบเสมือนการถ่ายรูปทรัพย์สินของผู้ยื่นบัญชีไว้เป็นหลักฐาน ณ ช่วงเวลาที่เริ่มดำรงตำแหน่ง เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว สามารถนำมาเปรียบเทียบกับบัญชีที่ยื่นไว้ก่อนหน้านี้ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
หากพบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินนั้น ว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
2. สร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาล
การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ยื่นบัญชีต่อสาธารณชน ช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความร่ำรวยของผู้ยื่นบัญชี
ก่อนและหลังดำรงตำแหน่ง ประชาชนสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ทรัพย์สินของผู้ยื่นบัญชีนั้นมาจากรายได้ที่สุจริตหรือไม่
นอกจากนี้ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน และเป็นการสร้างมาตรฐานจริยธรรมให้กับนักการเมืองและผู้บริหารประเทศอีกด้วย
"เมื่อมีหน้าที่ยื่นบัญชี ก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน"
หากไม่ยื่นบัญชี = "ปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน"
หากยื่นมาแต่ยื่นไม่ครบ = "แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ"
"เพราะกลัวโดนตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินและหนี้สิน"
#acm #ACM #VirtualMuseum #AntiCorruptionMuseum #ต้านโกง #พิพิธภัณฑ์ต้านโกง #ต้านโกงเสมือนจริง #กลโกง #กลโกงปกปิดบัญชีทรัพย์สิน #กลโกงปกปิดบัญชี #กลโกงแจ้งบัญชีเท็จ #แจ้งเท็จ #ไม่ยื่นบัญชี #ซุกทรัพย์สิน