คดีตัวอย่าง : ฮั้วประมูลจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร


กลโกงฮั้ว (7)

จากที่กล่าวไปในตอนฮั้วประมูล : กลโกงที่ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินมากเกินความเป็นจริง และตอนรู้หรือไม่ !! ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันฮั้วประมูล สรุปได้ว่าการฮั้วประมูล คือ การทำยังไงก็ได้ให้คู่แข่งยอมหลีกทางในการประมูลแข่งขัน การยื่นซองเสนอราคา รวมถึงขัดขวางการเสนอประโยชน์สูงสุด ให้แก่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งการฮั้วประมูล เกิดขึ้นกับการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น"


สำหรับรูปแบบของการฮั้วประมูล แบ่งได้ดังนี้

1 การสมยอมราคา/การจัดฮั้วกัน ของผู้ประกอบการ

2 กีดกันการเสนอราคาด้วยวิธีการต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ

3 เอื้อประโยชน์แก่เอกชนในการเสนอราคากับหน่วยงานรัฐ


ในตอนนี้จะมากล่าวถึงคดีตัวอย่างเกี่ยวกับการฮั้วประมูล หรือความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542


สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นกับการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ในวงเงิน 133,749,780 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2547


จุดเริ่มต้นของโครงการ

พ.ศ. 2546 กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขึ้น รวมทั้งสถานีดับเพลิงจํานวน 78 สถานี เพื่อรองรับภารกิจการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่จะถ่ายโอน มาจากสํานักงานตํารวจแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาล และได้รับโอนภารกิจการป้องกันและระงับอัคคีภัย สํานักงานตำรวจแห่งชาติ


คดีนี้เริ่มจากข้อเสนอของเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจําประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2546 ที่มีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอโครงการขายรถดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย โดยให้ดําเนินการในลักษณะรัฐต่อรัฐ ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐออสเตรีย กับข้อเสนอให้ความช่วยเหลือจัดหาแหล่งเงินทุนให้ โดยยอมรับพันธะการค้าต่างตอบแทนในสัดส่วนร้อยละ 100 (ซื้อสินค้าไทยไปในมูลค่าเท่าๆ กัน)

22 มิถุนายน 2547 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพ การทํางานสํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีหลักการสําคัญว่า วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ยานพาหนะต่าง ๆ ให้นําเข้าเฉพาะส่วนที่จําเป็นและที่ไม่มี หรือที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศเท่านั้น และให้กระทรวงพาณิชย์รับไปดําเนินการเกี่ยวกับการทําการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) กับรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย โดยเน้นสินค้าหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

14 กรกฎาคม 2547 คณะรัฐมนตรีทราบรายงานผลการดําเนินการตามที่กรุงเทพมหานครเสนอ โดยมีรายการสินค้าที่ต้องจัดหา 15 รายการ เป็นยานพาหนะดับเพลิงจํานวน 315 คัน เรือดับเพลิงจํานวน 30 ลํา ในวงเงิน 133,749,780 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาท

30 กรกฎาคม 2547 มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (AOU – Agreement of Understanding) ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจําประเทศไทย โดย A.O.U. ได้มีการระบุ ตัวคู่สัญญาที่จะทําข้อตกลงซื้อขายกันไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว คือรัฐบาลไทยโดยกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย ต้องซื้อสินค้าจากบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนต่างประเทศที่รัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรียกําหนด

27 สิงหาคม 2547 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร (นายสมัคร สุนทรเวช) ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ บรรเทาสาธารณภัย (PURCHASE AGREEMENT) กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด


รถดับเพลิง 2,000 ลิตร (144 คัน ซื้อแพงกว่าในประเทศ คันละ 15,455,370 บาท) (2).png

ข้อพิรุธการจัดซื้อรถดับเพลิง

เมื่อดูที่มาของโครงการ ก็ดูสมเหตุสมผลและสอดรับกันดี ไม่น่าจะมีอะไรผิดปกติ เป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ แต่มีคนพบความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างในหลายเรื่อง

1. การทำข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ บรรเทาสาธารณภัย (PURCHASE AGREEMENT) ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค จํากัด ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ที่กําหนดให้ทําสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของร่างสัญญาจากสํานักงานอัยการสูงสุด เพื่อประสงค์ให้กรุงเทพมหานคร ตกลงซื้อสินค้าจากบริษัท สไตเออร์ฯ โดยไม่มีการตรวจสอบชนิดและราคาสินค้า

การจัดซื้อในคดีนี้ ที่มีความพยายามกล่าวอ้างว่าเป็นการดําเนินการในลักษณะรัฐต่อรัฐ และความช่วยเหลือของรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย ทั้งที่ไม่มีความช่วยเหลือจริง จนนําไปสู่การทําข้อตกลง A.O.U. และกําหนดวิธีการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ

- เพื่อเป็นเพียงข้ออ้างที่จะได้จัดซื้อรถและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์การดับเพลิง จากบริษัท สไตเออร์ฯ โดยไม่ต้องเปิดการประกวดราคาเป็นการทั่วไปตามระเบียบการจัดซื้อโดยปกติเท่านั้น

- เพื่อเสนอราคารถดับเพลิงแพงผิดปกติ โดยไม่ต้องตรวจสอบ

- เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สไตเออร์ฯ สามารถเข้าเป็นคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร โดยไม่ต้องแข่งขันราคา เป็นหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการประกวดราคาอย่างเป็นธรรม

- ทำให้บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ได้รับสัดส่วนผลประโยชน์ ต่อต้นทุนสูงถึง ร้อยละ 48.77 ซึ่งสูงเกินกว่า มาตรฐานทางการค้า ที่เหมาะสม

- เพื่อใช้การจัดซื้อ โดยวิธีพิเศษ ไม่อาจใช้การประกวดราคาให้ผู้ขายรายอื่นเข้าเสนอราคาได้ ทําให้การจัดซื้อในครั้งนี้ ไม่มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม

2. การค้าต่างตอบแทนกับรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย ด้วยเงื่อนไขรับพันธะการค้าต่างตอบแทนในสัดส่วนร้อยละ 100 โดยเน้นสินค้าหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้จัดให้มีการลงนามในสัญญาการค้าต่างตอบแทนแต่อย่างใด แต่กลับนำยอดการส่งออก ไก่แปรรูป (ต้มสุก) แช่แข็ง ไปประเทศญี่ปุ่น มาตัดบัญชีต่างตอบแทน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่อย่างใดเพราะไม่ทำให้ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น และทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับประเทศออสเตรียกว่า 6,000 ล้านบาท


ใครบ้างที่ทำผิด

1. พลตำรวจตรีอธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร

เป็นผู้เริ่มติดต่อกับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ตั้งแต่รับราชการที่กองบังคับการตำรวจดับเพลิงเมื่อปลายปี พ.ศ.2545 และเกี่ยวข้องกับโครงการนี้เมื่อมีแผนการถ่ายโอนกองบังคับการ ตำรวจดับเพลิงไปสังกัดกรุงเทพมหานครและยังเป็นผู้พาตัวแทนบริษัท บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ไปพบนายประชามาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลงานของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ช่วยผลักดันการขายรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ตลอดจน อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด

เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติถ่ายโอนงานดับเพลิงไปให้กรุงเทพมหานครแล้ว พล.ต.ต. อธิลักษณ์ ก็ขอย้ายตามไปเพื่อผลักดันจนการจัดซื้อนี้เกิดขึ้น ทั้งนี้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ได้จัดทำบันทึกโครงการพัฒนาระบบริหาร และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอไปยังนายประชา มาลีนนท์ ตามที่เคยติดต่อไว้ 

และในฐานะประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษไม่เคยทําการสืบราคาสินค้าประเภทเดียวกันจากผู้ผลิตหรือจําหน่ายรายใด เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมของราคาตามอํานาจหน้าที่แต่ประการใด มีเพียงหนังสือแจ้งขอต่อรองราคาไปยังบริษัท สไตเออร์ฯ โดยไม่มีการพิจารณารายละเอียดของสินค้าและราคาที่จะต่อรองให้เห็นเป็นจริงจัง และในฐานะประธานกรรมการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ย่อมมีหน้าที่ต้องบริหารโครงการ และดําเนินการจัดซื้อให้เกิดประโยชน์แก่ราชการและประเทศชาติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสืบราคา และต่อรองราคาให้ถึงที่สุดเพื่อประโยชน์แก่ราชการ ไม่ใช่มุ่งแต่จะซื้อสินค้าจากบริษัท สไตเออร์ฯ ให้ได้อย่างเดียว โดยไม่ได้คํานึงถึงความเสียหายที่ประเทศชาติจะได้รับ


2. นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล กรุงเทพมหานคร

หลังจาก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ พาผู้แทนบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัดเข้าพบนายประชา มาลีนนท์แล้ว นายประชา มาลีนนท์ก็ได้ดำเนินการผลักดันให้มีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง รวมทั้งอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยจากบริษัท สไตเออร์เดมเลอร์พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด และยังเดินทางไปดูงานการผลิตรถดับเพลิงตามคำเชิญของ บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ที่สาธารณรัฐออสเตรีย และราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ต่อมายังได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขบันทึกของ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา อีกทั้งพยายาม เร่งรัดให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เปิด L/C ให้กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ทั้งที่นายอภิรักษ์เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อจากนายสมัคร สุนทรเวช

จะเห็นได้ว่านายประชา มาลีนนท์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อนี้ตั้งแต่แรก ในลักษณะเข้าไปสั่งการผลักดันโครงการเพื่อให้มีการจัดซื้อสินค้าจนนําไปสู่การจัดซื้อสินค้ารถและเรือดับเพลิงในราคาที่ไม่เหมาะสม เกิดความเสียหายแก่รัฐและกรุงเทพมหานคร อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด


รถดับเพลิง 2,000 ลิตร (144 คัน ซื้อแพงกว่าในประเทศ คันละ 15,455,370 บาท) (1).png

ผลคำพิพากษา

1. นายประชา มาลีนนท์ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 ลงโทษจําคุก 12 ปี สถานะหลบหนีคำพิพากษา

2. พลตำรวจตรีอธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542  มาตรา 12 ลงโทษจําคุก 10 ปี สถานะหลบหนีคำพิพากษา

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

มาตรา 12 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา 13 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกรรมการหรืออนุกรรมการในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ ต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณา หรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาเพื่อจูงใจหรือทำให้จำยอมต้องยอมรับการเสนอราคาที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท


บทสรุปจากคดีตัวอย่างฮั้วประมูล

โครงการจัดซื้อที่มีลักษณะขาดความเป็นธรรมในการแข่งขันประกวดราคาหรือที่เรียกว่า "ฮั้วประมูล" ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นนอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากผู้เสนอราคาได้ และในกรณีนี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนร่วมหรือมีส่วนสนับสนุนในการทำความผิดด้วยการละเว้นไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อันส่งผลให้ความเสียหายซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์หรือเหตุผลในการประกาศเพื่อกำกับดูแลให้การจัดหาสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อหรือการจัดจ้าง หรือวิธีอื่นใดของหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กระทำอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรรมและมีการแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ

การกระทำเพื่อฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นความผิดทางอาญา มีโทษในการกระทำผิด การทุจริตในลักษณะนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมืออย่างแยบยลของผู้มีอำนาจหลายระดับและหลายฝ่าย ยากต่อการสอบสวนและเอาผิด สำนึกอันถูกต้องของผู้อยู่ในอำนาจให้คุณและให้โทษในการจัดซื้อและจัดจ้างของหน่วยงานราชการจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมไปถึงภาคเอกชนที่ต้องไม่ลืมว่าความเสียหายจากการทุจริตจัดซื้อและจัดจ้าง แม้จะเอื้อประโยชน์ต่อตนและกิจการหากในความจริง ส่งผลเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติที่ตนเองคือส่วนหนึ่งด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



#acm #ACM #VirtualMuseum #AntiCorruptionMuseum #ต้านโกง #พิพิธภัณฑ์ต้านโกง #ต้านโกงเสมือนจริง #กลโกง #ฮั้ว #ฮั้วประมูล #กลโกงฮั้วประมูล #กฎหมายฮั้วประมูล #กฎหมายฮั้ว #กฎหมายป้องกันฮั้ว #กฎหมายป้องกันฮั้วประมูล #ฮั้วประมูลรถดับเพลิง #รถดับเพลิง


ออกแบบภาพและเรียบเรียงเนื้อหาโดย : กนต์ธร บัวงาม เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ พิพิธภัณฑ์ต้านโกง


ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑ์ต้านโกงเสมือนจริง-ตีแผ่กลโกง
คำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.5/2554 คดีหมายเลขแดงที่ อม.7/2556
เปิดแฟ้ม 10 คดีทุจริต บทเรียนราคาแพงของคนไทย หน้า 79 - 114

ติดตามข่าวสาร