พระอัยการลักษณะอาญาหลวง พ.ศ. 1895 : กฎหมายต้านโกงฉบับแรกของอาณาจักรอยุธยา


อาญาหลวง

พฤติกรรมการทุจริต ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้บัญญัติความหมายของคำไว้อย่างหลากหลาย อาทิ


         “การฉ้อราษฎร์บังหลวง” หมายความว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บเงินจากราษฎรแล้วไม่ส่งหลวงหรือเบียดบังเงินหลวง

         “รีดนาทาเร้น” หมายความว่า ขูดรีดเอาทรัพย์สินจนแทบหมดเนื้อหมดตัว

         “เบียดบัง” หมายความว่า ยักเอาไว้เป็นประโยชน์ของตัว

         “คอร์รัปชัน” หมายความว่า โกง, เบียดบัง, ทุจริต, ฉ้อราษฎร์บังหลวง, รับสินบน


พฤติกรรมการทุจริตดังกล่าวข้างต้นนั้น ในสมัยอาณาจักรอยุธยาถือได้ว่าหากขุนนางข้าราชการมิได้กระทำการอันเป็นการเดือดร้อนแก่ราษฎรจนเกินไป ก็มิได้ถือว่าเป็นการกระทำการที่ผิด เนื่องจากบรรดาขุนนางข้าราชการในสมัยอยุธยานั้นมิได้รับเงินตอบแทนรายเดือนเป็นค่าครองชีพ พระเจ้าแผ่นดินจึงตรากฎหมายขึ้นในเชิงเอื้อประโยชน์ต่อขุนนางข้าราชการให้สามารถปกครองและใช้แรงงานไพร่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าแรง รวมทั้งสามารถลงโทษได้หากมีการกระทำผิด แต่อย่างไรก็ตามได้มีการตรากฎหมายขึ้น เพื่อควบคุมวิถีประพฤติปฏิบัติของขุนนางข้าราชการให้ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ราษฎรจนเกินสมควร จนบ้านเมืองอาจตกอยู่ในสภาวะไม่สงบสุข

ทั้งนี้ กฎหมายเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ปรากฏหลักฐานแห่งการบังคับใช้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินในการอำนวยความยุติธรรมและความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่บ้านเมืองนั้น ปรากฏการตรากฎหมายดังกล่าวขึ้นครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อ พ.ศ. 1895 เรียกว่า  พระอัยการลักษณะอาญาหลวง และมีการบัญญัติเพิ่มเติมอีกหลายครั้งหลายคราวโดยพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อ ๆ มาในภายหลัง โดยพระอัยการลักษณะอาญาหลวงถูกยกเลิกลงในปี พ.ศ. 2451 (เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127) รวมระยะเวลาที่บังคับใช้ทั้งสิ้น 556 ปี โดยในส่วนของเนื้อหาและบทลงโทษ ส่วนใหญ่เป็นบทบัญญัติที่ควบคุมการใช้อำนาจรัฐของขุนนางและมูลนาย กล่าวคือ เป็นบทลงโทษข้าราชการที่กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ โดยยกตัวอย่างบทบัญญัติของพระอัยการลักษณะอาญาหลวง

อัยการอาญาหลวง.jpg


         พระอัยการลักษณะอาญาหลวง พ.ศ. 1895 บทที่ 3 บัญญัติไว้ว่า


         “… พระเจ้าอยู่หัวมิได้ตรัสใช้ให้ไปราชการใด ๆ แต่ไปด้วยตนเองก็ดี หรือมิได้ตรัสใช้ แต่อ้างว่าทรงใช้ก็ดี และไป กระทำการรุกราษฎร์ ข่มเหงไพร่ฟ้า เก็บเอาทรัพย์สินสิ่งของใด ๆ ผู้นั้นมีความผิดฐานบุกราษฎร์เกินเลย ให้ลงโทษ 8 สถาน …”


จากข้อบัญญัติดังกล่าว แปลความได้ว่า หากขุนนางข้าราชการผู้ใดแอบอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินใช้ให้กระทำการใด หรือ กระทำเกินเลยขอบเขตอำนาจหน้าที่ อันเป็นการข่มเหงราษฎรให้เกิดความทุกข์ร้อน ให้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ 8 สถาน


         พระอัยการลักษณะอาญาหลวง (เพิ่มเติม) พ.ศ. 1976 บทที่ 23 บัญญัติไว้ว่า


         “… มีพระราชโองการแลพระราชบัญญัติใช้ให้กระทำราชการ แลเพทุบายเอาแต่เงินทองทรัพย์ เข้าของ เหย้าเรือน ลูกเมีย ข้าคนเขามาเป็นประโยชน์แห่งตนก็ดี แลนายพระธำมรงค์นายมหาดไทย นายคดีผู้ไปเรียก หากมิส่งคนให้พิจารณาโดยกระทรวงคดีก็ดี แลมิทำตามพระราชนิยม กรมอันท่านอายัตไว้ โดยกระทรวงการนั้นก็ดี ท่านใช้ให้ไปสืบเอากิจจานุกิจ แลมิไปเอาราชกิจตามท่านใช้ก็ดี ท่านว่ามีโทษ 6 สถาน …”


จากข้อบัญญัติดังกล่าว แปลความได้ว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หากขุนนางข้าราชการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ โดยไม่เป็นไปตามที่พระเจ้าแผ่นดินมอบอำนาจ อย่าได้กระทำหรือเห็นพ้องตาม ถ้าผู้ใดเห็นแก่อามิสสินจ้างสินบน มิได้ทัดทาน และกระทำตามบังคับบัญชาที่ผิดขนบธรรมเนียมนั้น ให้ลงโทษผู้มิทัดทาน 6 สถาน


         พระอัยการลักษณะอาญาหลวง (เพิ่มเติม) พ.ศ. 1976 บทที่ 43 บัญญัติไว้ว่า


         “… พระเจ้าอยู่หัวท่านห้ามมิให้มุขมนตรี ราชนิกุล ขุนหมื่นหัวพันทั้งหลาย คบกับเสพย์สุรายาเมา สูบฝิ่น เที่ยวเล่นในเวลากลางคืน และลักลอบเจรจาคดีอันมิชอบ อันผิดจากพระราชกฤษฎีกา ถ้าผู้ใดมิฟังพระราชบัญญัติตรัสห้ามดั่งนี้ ท่านว่าผู้นั้นขบถทรยศต่อแผ่นดิน ท่านให้ลงโทษ 6 สถาน …”


จากข้อบัญญัติดังกล่าว แปลความได้ว่า การที่ห้ามเหล่าขุนนางข้าราชการดื่มและเสพสุรายาเมาในเวลากลางคืนนั้น เป็นไปเพื่อการป้องกันมิให้ข้าราชการสมคบคิดกันกระทำในสิ่งที่เป็นการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ อีกทั้งเนื้อความในบทบัญญัติที่ต่อเนื่องยังได้กล่าวถึงการไปมาหาสู่กันในเวลากลางคืนของเหล่าขุนนางข้าราชการ ว่าจะต้องแจ้งให้เจ้าขุนมูลนายที่บังคับบัญชาตนทราบก่อนถึงเหตุผลสำคัญในการติดต่อ


         พระอัยการลักษณะอาญาหลวง (เพิ่มเติม) พ.ศ. 1976 บทที่ 118 บัญญัติไว้ว่า


         “… กำนันตลาดเก็บเอาเบี้ยแก่ลูกตลาดเกินพิกัดอัตรา ให้ทวนด้วยหวาย 15 ที แล้วเอาประจานรอบตลาด กลับมาให้จำขื่อ 3 วัน กับให้คืนเสียที่เก็บให้แก่ลูกตลาด …”


จากข้อบัญญัติดังกล่าว แปลความได้ว่า หากข้าราชการรีดไถ่เบี้ยที่เกินพิกัดอัตราจากผู้ค้าขายในตลาด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎร ให้ลงโทษด้วยหวาย นำออกไปแห่ประจานและนำกลับมาจำขื่อ รวมทั้งให้คืนเบี้ยทั้งหมดแก่ผู้ค้าขายอย่างสุจริต




เรียบเรียงโดย : ทัศนพงศ์ สมศรี เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ พิพิธภัณฑ์ต้านโกง

ติดตามข่าวสาร