พระธรรมศาสตร์ : รากฐานแห่งกฎหมายต้านโกง (สมัยอยุธยา พ.ศ. 1893)


พระธรรมศาสตร์

สืบเนื่องจากอาณาจักรอยุธยา ศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ที่ได้ก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ. 1893 โดยมีปฐมกษัตริย์คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดทางการเมืองการปกครองมาจากราชสำนักขอม ซึ่งยึดคติตามแบบอินเดียที่เชื่อในลัทธิเทวราชาหรือหลักเทวสิทธิ์ จึงทำให้อาณาจักรอยุธยาได้นำระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาปรับใช้ กล่าวคือ เป็นลัทธิจากคติจากอินเดียผสมกับแนวคิดของพราหมณ์ฮินดูที่เชื่อว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะ “สมมติเทพ” ซึ่งอยู่เหนือประชาชนสามัญธรรมดาทั้งปวง เนื่องจากพระองค์ทรงได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้มีอำนาจเด็ดขาดในการมาปกครองโลกมนุษย์ อีกทั้งยังทรงมีสถานะเป็นร่างอวตารของเทพในลัทธิพราหมณ์ฮินดู คือ พระศิวะ และพระนารายณ์ ซึ่งมีภารกิจในการลงมาปราบทุกข์เข็ญและปกครองโลกมนุษย์ให้สงบสุข แต่ทั้งนี้หากมองในแง่ของการรวบรวมอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นอาจอนุมานได้ว่า สมัยอยุธยาตอนต้น แนวคิดเทวราชาถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยในการเสริมสร้างอำนาจของกษัตริย์ในยุคเริ่มแรกของการสถาปนาอาณาจักรที่จำเป็นต้องมีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่อาณาจักร

นอกจากนี้ อาณาจักรอยุธยายังได้รับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาจากพวกมอญ ซึ่งเป็นแนวคิดการปกครองแบบอินเดียที่มีเนื้อหาในคัมภีร์กล่าวยกย่องพระมหากษัตริย์ให้มีสถานะที่สูงส่งเหนือชาวมนุษย์ทั้งปวง โดยยึดคติแนวคิดแบบลัทธิพราหมณ์ฮินดูที่พระมหากษัตริย์มีสถานะเทียบเท่าพระศิวะ และพระนารายณ์ ดังปรากฏในพิธีกรรมพราหมณ์ต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งพราหมณ์จะสาธยายมนต์อัญเชิญเทพเจ้าลงมาจุติในองค์กษัตริย์ ทั้งนี้แม้ว่ากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีอำนาจแบบเด็ดขาดในการเป็นทั้งเจ้าของชีวิตและพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ทรงยึดหลักธรรมในการปฏิบัติเป็นพระราชจริยวัตรตามแบบฉบับของแนวคิดอินเดียที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นธรรมิกราช เช่น พระเจ้ามหาสมมติราชที่คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ยกไว้เป็นอุทาหรณ์ โดยหากละเมิดหลักธรรมดังกล่าวก็จะเป็นการสร้างความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติของพระองค์เอง ดังนั้นการดำรงตนเป็นพุทธมามกะ และทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะเป็นผลสะท้อนไปสู่การบริหารราชการแผ่นดินที่มีองค์ศูนย์กลางแห่งอำนาจยึดมั่นในพระราชธรรม ประพฤติพระองค์ในทางที่สมควรและดำรงความยุติธรรมแก่ราษฎร ประกอบกับเนื้อหาในส่วนของ “ลักษณะอินทภาษ” ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมูลคดีแห่งผู้พิพากษาและตุลาการ เป็นหลักคำสอนที่พระอินทร์มีต่อบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นตุลาการว่า


ตุลาการที่ดีต้องไม่มีอคติ 4 ประการ ได้แก่

1. ฉันทาคติ (รัก)

2. โทสาคติ (โกรธ)

3. ภยาคติ (กลัว)

4. โมหาคติ (หลง)


พระธรรมศาสตร์.png

ภาพ : คัมภีร์พระธรรมศาสตร์


โดยพระธรรมศาสตร์กำหนดให้ผู้พิพากษาและตุลาการต้องยึดยึด “หลักอินทภาษ” พระธรรมศาสตร์ พระราชศาสตร์ และพระราชกฤษฎีกา เป็นหลักสำคัญในการพิพากษาและพิจารณาอรรถคดี โดยให้ตั้งจิตไว้บนความกรุณาแก่คู่ความแล้วไต่สวนคดีโดยละเอียด ทำการพิพากษาคดีความตามพระธรรมศาสตร์อย่างคลองธรรมโดยจัตุรัส กล่าวคือ พลิกผันได้ยาก ไม่แปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของผู้พิพากษา จะสามารถพิจารณาสำนวนจนได้ความจริง ทำให้สามารถพิจารณาคดีนั้นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมได้


การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามหลักดังกล่าวนี้มีผลต่อตุลาการผู้นั้น คือ


ถ้าตัดสินความโดยปราศจากอคติทั้ง 4 ประการตามหลักอินทภาษแล้ว อิสริยยศและบริวารยศแห่งผู้นั้นก็จะเจริญรุ่งเรืองเปรียบประดุจเดือนข้างขึ้น


แต่หากตุลาการผู้ใดตัดสินความโดยมีอคติ 4 ประการแล้ว อิสริยยศและบริวารยศแห่งผู้นั้นก็จะเสื่อมสูญไปเปรียบประดุจเดือนข้างแรม และถือเป็นบาปอย่างยิ่ง โดยกล่าวว่าแม้จะฆ่าสิ่งมีชีวิตไปเป็นพันเป็นหมื่นบาปกรรมนั้นก็ไม่เท่ากับบุคคลที่บังคับคดีไม่เที่ยงตรง


กล่าวกันว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์นั้น เป็นคัมภีร์ที่ผู้มีอำนาจเหนือมนุษย์แต่งเรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการยุติธรรม โดยเป็นหลักเกณฑ์ที่อยูเหนือกฎหมายทั้งปวง ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีศักดิ์เทียบเท่ากับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมัยอยุธยาได้มีการตรากฎหมายขึ้นเป็นแนวทางการปกครองที่เรียกว่า “พระราชศาสตร์” โดยยึดหลักมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นแม่บท ทั้งนี้การตรากฎหมายดังกล่าวก็ได้มีการมีการคำนึงถึงความเหมาะสมต่อสถานการณ์บ้านเมืองแล้วนำมาปรับใช้ ในกรณีที่พระธรรมศาสตร์มิได้ระบุข้อตัดสินบางประการไว้ ต้องอาศัยพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์เป็นแนวทางตัดสิน ซึ่งคำตัดสินของพระมหากษัตริย์จะเรียกว่า “พระราชบัญญัติ” กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาสูงสุดในการวินิจฉัยฎีกาที่ได้รับการถวายจากราษฎร โดยราษฎรที่มีเรื่องทุกข์ร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมในสมัยอยุธยาตอนต้น ขั้นแรกสามารถร้องทุกข์หรือถวายฎีกาผ่านมูลนายที่บังคับบัญชาเบื้องต้นก่อน หากไม่ได้รับการพิจารณาให้ร้องทุกข์ไปยังลูกขุน ณ ศาลา คือเหล่าเสนาบดีที่ดูแลแต่ละกรมได้ ในขั้นสุดท้ายหากไม่ได้รับการพิจารณาอีกก็ให้ทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ได้ในที่สุด


ภาพวาด.jpg

ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) : วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ช่วงต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” แต่งโดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช


ทั้งนี้ ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และราษฎรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเหินห่างมากขึ้น ตามหลักแนวคิดทางการปกครองในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ กล่าวคือ แม้ว่ากษัตริย์จะยังมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร แต่พระมหากษัตริย์จะไม่สามารถทราบความเป็นอยู่ของราษฎรได้โดยตรงเช่นสมัยสุโขทัย โดยจะเป็นการทราบผ่านเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ดังนั้นฎีกาที่ราษฎรร้องเรียนขึ้นมา ในทางปฏิบัติจริงมิอาจทำได้โดยเสรีเช่นดังสมัยสุโขทัย เพราะราษฎรต้องทำการร้องทุกข์ตามขั้นตอนโดยผ่านเจ้านายหรือขุนนางผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนไปตามลำดับฎีกาหรือเรื่องราวร้องทุกข์ อาจไปไม่ถึงพระมหากษัตริย์ หากเรื่องราวร้องทุกข์นั้นกระทบกระเทือนต่อเจ้านายและขุนนาง


เรียบเรียงโดย : ทัศนพงศ์ สมศรี เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ พิพิธภัณฑ์ต้านโกง

ติดตามข่าวสาร