ธรรมราชา : ราชากับการต้านโกง สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1792 - พ.ศ. 1981)


ธรรมราชา

..........ด้วยลักษณะทางสังคมที่เป็นไปตามระบอบการปกครองในสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นระบอบแบบ “พ่อปกครองลูก” หรือ “ปิตุราชาธิปไตย (paternalism)” กล่าวคือ เป็นระบบการปกครองที่มีพระเจ้าแผ่นดิน (พระมหากษัตริย์) ทำหน้าที่เปรียบเสมือน “พ่อของลูก” ซึ่งคือประชาชน โดยรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่ศูนย์กลางอำนาจที่พระเจ้าแผ่นดินอย่างเบ็ดเสร็จ ” ผู้ปกครองจึงมีความใกล้ชิดกันอย่างมากกับราษฎร เป็นรูปแบบที่สะท้อนให้เห็นหลักการปกครองแบบครอบครัว โดยขยายบ้านเมืองให้เป็นแบบครอบครัวใหญ่ มีพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนพ่อของครอบครัวใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “พ่อขุน” พ่อจะให้ความเมตตาต่อลูกคือประชาชนให้มีความสุข

..........โดยจากหลักฐานศิลาจารึก หลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) อาจจะพออนุมานและเข้าใจได้ว่า ในสมัยสุโขทัยนั้น “ข้าราชการ” ได้เกิดขึ้นมาแล้ว เรียกว่า “ลูกขุน” ตรงข้ามกับผู้ปกครองซึ่งคือพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า “พ่อขุน” และมีชั้นชนใต้ปกครองที่ตามหลักฐานดังกล่าว เรียกว่า “ท่วย” หรือ “ไพร่ฟ้า” โดยพระมหากษัตริย์ทรงมอบหมายภาระหน้าที่ในดูแลงานราชการแผ่นดินในด้านต่าง ๆ ให้แก่ลูกขุนผู้ใกล้ชิด เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ ศิลาจารึก หลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ยังได้กล่าวถึง “อำมาตย์” หรือ “มนตรี” ไว้ อันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า สมัยสุโขทัยจะต้องมีการแต่งตั้งข้าราชการ หรือที่แต่เดิมเรียกว่า “ขุนนาง” อยู่ในราชสำนักของพระมหากษัตริย์แล้ว

..........ทั้งนี้ เนื่องจากสังคมในสมัยสุโขทัยยังเป็นไปในลักษณะที่ไม่มีความซับซ้อนมาก พื้นที่ของราชอาณาจักรไม่กว้างขวาง ส่งผลให้เกิดผลดีจากการปกครองในระบอบ “ปิตาราชาธิปไตย” เพราะพระมหากษัตริย์สามารถดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ได้อย่างทั่วถึง หากราษฎรมีเหตุทุกข์ร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถทำการร้องทุกข์ต่อ “พ่อขุน” หรือพระมหากษัตริย์ได้โดยง่าย ด้วยวิธีการ “สั่นกระดิ่ง” ที่แขวนไว้หน้าพระราชวัง และพระมหากษัตริย์ก็จะออกมาว่าความตัดสินอรรถคดีและเยียวยาความเดือนร้อนให้แก่ราษฎรได้ด้วยตัวพระองค์เอง ดังข้อความในศิลาจารึกปรากฏว่า


"…ปากประตูมีกระดิ่งอันณึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกะดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยซื่อ …"


พ่อขุนอุปถัมป์.jpg
ภาพ : การปกครองในระบอบ "พ่อขุนอุปถัมป์"

.........กล่าวคือ เป็นการเปิดโอกาสให้ราษฎรสามารถมาสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งข้อร้องเรียนได้ ซึ่งวิธีการร้องทุกข์และขอความเป็นธรรมจากพระมหากษัตริย์โดยตรงเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมประเพณีการถวายฎีการ้องทุกข์ และฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา นอกจากนี้ อาณาจักรสุโขทัยยังการมีใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้สร้าง "พระแท่นมนังคศิลาบาตร" ขึ้นไว้กลางดงตาล เพื่อให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาองค์พระมหากษัตริย์จะเสด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน ส่งผลให้ราษฎรเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เกรงกลัวต่อหลักบาปกรรม และประพฤติตนตามทำนองคลองธรรมไปในทางที่ชอบ จึงเป็นการขัดเกลาทางความคิดให้คนในสังคมของอาณาจักรสุโขทัยยึดมั่นในหลักของการเป็นสุจริตชน

.........ดังนั้น สมัยอาณาจักรสุโขทัยจึงไม่ปรากฏบันทึกในเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบของเหล่าลูกขุนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลการบริหารราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ เนื่องด้วยเจ้านายขุนนางไม่กล้าข่มเหงราษฎรมากนัก เพราะเรื่องราวความทุกข์ร้อนดังกล่าวอาจไปถึงพระเนตรพระกรรณของผู้ปกครองได้โดยง่าย อีกทั้งระบอบการปกครองเช่นนี้ยังเอื้อต่อการที่ผู้ปกครองจะทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรได้อย่าวทั่วถึง ดำรงความยุติธรรมและความเป็นอยู่ที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ราษฎรทั่วอาณาจักร ตามแนวคิดของผู้ปกครองที่ยึดถือหลัก “ธรรมราชา” ดังปรากฏใน “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งมีความปรากฎว่า

"… พระญาองค์ใดแลเสวยราชสมบัติแล้ว แลทำความชอบให้ไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลาย ก็อยู่เย็นเป็นสุขได้หลก เพราะด้วยบุญสมภารของท่าน ผู้เป็นเจ้าเป็นจอมแล ข้าวน้ำซ้ำปลาอาหาร แก้วแหวนแสนสัตเนาวรัตนะ เงินทองผ้าผ่อนแพรวพรรณนั้นก็บริบูรณ์ อีกฝูงเทวฟ้าฝนนั้นก็ตกชอบฤดูกาล บมิน้อยบมิมาก ทั้งข้าวในนา ทั้งปลาในน้ำ ก็บห่อนรู้ร่วงโรยเสียไปด้วยฝนแล้งนั้น… แลท้าวพระญาองค์ใดกระทำความบมิชอบคลองธรรมไส้ เทวาฟ้าฝนนั้นก็พิปริต แม้นทำไร่ไถนาก็บันดาลให้เสียหาย ตายด้วยแล้งแลฝนแล อนึ่งผลไม้ทั้งหลายแลพืชอันเกิดเหนือแผ่นดิน อันมีโอชารสอันดีอร่อยนั้นกลับหายเสียไป เพื่อโอชารสนั้นจมลงไปใต้แผ่นดินสิ้น ทั้งต้นแลลำอันปลูกนั้น มันก็มิงามเลย …"

.........จากเนื้อความในจารึกข้างต้น เป็นไปตามแนวคิดทางการเมืองการปกครองในสมัยอาณาจักรสุโขทัยซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตนในฐานะ “ธรรมราชา” ยึดมั่นหลักธรรมทางพุทธศาสนาในการปกครองราษฎรทั้งหลายอย่างเป็นธรรม โดยมีหลักธรรมสำคัญกำกับพระราชจริยวัตร ได้แก่ ทศพิธราชธรรม 10 และจักรวรรดิวัตร 12 ตลอดจนหลักการปกครองที่ปรากฎในไตรภูมิพระร่วงที่พระมหาจักรพรรดิราชใช้สั่งสอนท้าวพระยาทั้งหลายให้ปฏิบัติตามอีกด้วย

.........ต่อมา อาณาจักรสุโขทัยได้เข้ายึดครองนครธมในปี พ.ศ. 1974 หลังจากที่ได้รับชัยชนะจากการทำสงครามกับอาณาจักรเขมร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของความเจริญทางวัฒนธรรมและระบบการปกครองที่เป็นระเบียบแบบแผน โดยได้กวาดต้อนพราหมณ์และขุนนางจากอาณาจักรเขมรเข้ามาช่วยบริหารราชการแผ่นดินในราชสำนักสุโขทัย ขณะเดียวกันอาณาจักรสุโขทัยยังได้รับอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียผ่านทางราชสำนักเขมร ในเรื่องของ “ลัทธิเทวราชา” ที่เชื่อว่า พระมหากษัตริย์นั้นเป็นอีกร่างหนึ่งของพระศิวะหรือพระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่เคารพนับถือในลัทธิพราหมณ์ฮินดู รวมทั้งรับแนวคิดเกี่ยวกับระบบความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนที่มีลักษณะในเรื่องของความแตกต่างระหว่างชนชั้น แบบ “เจ้าชีวิต” หรือ “เจ้ากับข้า นายกับบ่าว” เข้ามาสู่ระเบียบแบบแผนของการบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย อันมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะระบอบการปกครองไปสู่ระบอบ “ราชาธิปไตย” นับแต่นั้นเป็นต้นมา


เรียบเรียงโดย : ทัศนพงศ์ สมศรี เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ พิพิธภัณฑ์ต้านโกง

ติดตามข่าวสาร